ความเป็นมา และนโยบาย

ความเป็นมา

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 668 วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยเห็นชอบกับการจัดทำแผนปฏิรูประบบบริหารจัดการวิจัยและแผนพัฒนาเฉพาะด้านต่าง ๆ ที่สำคัญรวม 7 แผน ได้แก่ แผนเฉพาะด้านการปฏิรูปกลุ่มวิจัยและระบบบริหารจัดการงานวิจัย แผนเฉพาะด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในมหาวิทยาลัย แผนเฉพาะด้านการใช้สัตว์ทดลอง แผนเฉพาะด้านการวิจัยสู่อุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แผนเฉพาะด้านคุณธรรมและจริยธรรมการวิจัย แผนเฉพาะด้านอุทยานการวิจัย  และแผนเฉพาะด้านการสนับสนุนการจัดทำคลังปัญญาจุฬาฯ เพื่อประเทศไทย

 สำหรับการดำเนินงานตามแผนด้านการพัฒนาด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 แผนเฉพาะด้าน เริ่มต้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยยังได้จัดทำโครงการปฏิบัติการพิเศษเพื่อจัดทำแผนแม่บทสำหรับการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในมหาวิทยาลัย มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2549) โดยแต่งตั้ง คณะทำงานปฏิบัติการพิเศษเพื่อการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและทดลองใช้รูปแบบการดำเนินงานที่ครอบตลุมการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในระดับมหาวิทยาลัย และคณะทำงานปฏิบัติการพิเศษ ฯ ได้สรุปผลการดำเนินงานเสนอเพื่อทราบในที่ประชุมคณบดี ครั้งที่ 20/2549 เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน 2549 มหาวิทยาลัยดำเนินงานต่อมา โดยมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในมหาวิทยาลัย  (พ.ศ. 2549 – 2554) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 เพื่อจัดทำแผนพัฒนาด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 7 แผนงาน คือ

1. แผนงานมาตรฐานระบบกายภาพและระบบความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ
2. แผนงานมาตรฐานการจัดการคุณภาพห้องปฏิบัติการ
3. แผนงานการพัฒนาระบบฐานข้อมูล
4. แผนงานการจัดการสารเคมี
5. แผนงานการจัดการของเสียอันตราย
6. แผนงานการพัฒนาบุคลากร
7. แผนงานวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดความรู้

       ต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนพัฒนา ฯ ดังกล่าวในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 675 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2549  และแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการดำเนินงานด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และคณะกรรมการบริหารด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตรายเป็นหน่วยงานหลักในกำกับดูแลด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินงานประสานกับ คณะ / สถาบัน  เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นโยบายด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูล และระบบในการจัดการเกี่ยวกับสารเคมีและของเสียอันตรายขึ้นเป็นรูปแบบกลางของมหาวิทยาลัย เพื่อให้คณะ/ สถาบัน ที่มีการใช้สารเคมีในการเรียนการสอน การวิจัย การสร้างผลผลิตใด ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการบันทึกข้อมูลสารเคมี และข้อมูลของเสียอันตรายลงในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการบริหารจัดการที่เป็นระเบียบ ประหยัด และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวระหว่าง คณะ/ สถาบันภายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้โดยนโยบายให้แต่ละ คณะ/ สถาบัน เป็นผู้ดำเนินการ โดยฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดทำโปรแกรมฐานข้อมูล จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการดำเนินงาน ในส่วนของการฝึกอบรมบุคลากร มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้บุคลากรทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีในทุกระดับได้รับการอบรมให้มีความรู้ ความชำนาญเพียงพอที่จะปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมี และของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการได้ตามสถานภาพของบุคลากรแต่ละคน รวมทั้งมีนโยบายให้มีการประเมินและพัฒนาสถานที่ห้องปฏิบัติการ ห้องเก็บสารเคมี และระบบบริหารจัดการภายในสถานที่ให้มีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน มีความสะดวก มีระบบในการเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยและคณะ/ สถาบันร่วมกันกำหนด โดยการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายนั้นจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีที่รับผิดชอบด้านกิจการวิจัย และรองอธิการบดีที่กำกับดูแลด้านกายภาพ โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดกาสารและของเสียอันตรายเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัย และดำเนินงานประสานกับคณะ / สถาบันเพื่อให้ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน

 


©2013 All right reserved.